คนแก่ชะแรวัยผิดเผลอไผล จริงหรือ?

KMUTT Library
3 min readJul 21, 2021
Photo by Raychan on Unsplash

“พ่อแม่ก็แก่เฒ่า จำจากเจ้าไม่อยู่นาน

จะพบจะพ้องพาน เพียงเสี้ยววารของคืนวัน

ใจจริงไม่อยากจาก เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน

แต่ชีพมิทนทาน ย่อมร้าวรานสลายไป

ขอเถิดถ้าสงสาร อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ

คนแก่ชะแรวัย ผิดเผลอไผลเป็นแน่นอน...”

^ส่วนหนึ่งจากบทร้อยกรองของอาจารย์สุนทรเกตุ

จากส่วนหนึ่งในบทร้อยกรองข้างต้น สะท้อนถึงความเป็นอยู่ ความในใจของผู้สูงอายุที่พยายามอธิบายถึงสถานการณ์ของตนเองและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้นึกถึงสถานการณ์ของผู้สูงวัยในประเทศไทย จากสถิติผู้สูงอายุของประเทศไทย 77 จังหวัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2563 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ [1] ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า มีจำนวนผู้สูงวัยในประเทศไทยถึง 17.57% ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” หากมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ในจำนวนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ หลายหน่วยงานในประเทศไทยได้เริ่มมาตรการหลายด้านต่อการรับมือเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพโดยสมบูรณ์ ทั้งด้านการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ ทั้งด้านการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการวางแผนทางการเงิน การวางแผนหลังเกษียณ ยกตัวอย่าง กรมกิจการผู้สูงอายุที่มีสวัสดิการคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพความเป็นอยู่ [2] เช่น การให้เบี้ยผู้สูงอายุ หรือการให้บริการปรึกษาหาข้อมูลด้านตลาดแรงงานสำหรับจัดหางานให้ผู้สูงอายุ การตั้งศูนย์การเรียนรู้หรือรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ จัดช่องทางพิเศษเฉพาะในการเข้ารับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

Photo by Georg Arthur Pflueger on Unsplash

คำกลอนข้างต้นที่ว่า “คนแก่ชะแรวัย ผิดเผลอไผลเป็นแน่นอน” ทำให้ผู้เขียนหาคำตอบของสิ่งที่ทำให้สะท้อนว่า คนชรามีสิ่งที่ผิดพลาดได้แน่นอนนั้นจริงหรือ ซึ่งจากสถานการณ์ปัญหาของผู้สูงวัยที่ต้องประสบและหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมอย่างเร่งด่วนใน 4 กลุ่มโรคหลัก ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง กลุ่มอาการที่เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุและพบบ่อยๆ ได้แก่ อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ เป็นอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม ภาวะกระดูกพรุน ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม การนอนไม่หลับ ปัญหาการมองเห็น ปัญหาการกลั้นอุจจาระและปัสสาวะได้ลำบาก การสูญเสียความทรงจำอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่น่าจับตามอง เนื่องจากความชุกของภาวะดังกล่าวพบสูงขึ้นตามวัยที่สูงขึ้น จากสถิติโลก [4] พบว่า มีอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมทุกๆ 3 วินาที ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มีอัตราผู้เป็นโรคสมองเสื่อมอย่างรวดเร็วในผู้สูงวัยของประเทศจีน อินเดีย กลุ่มประเทศโซนเอเชียใต้ และแปซิฟิกตะวันออก สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2559 [5] พบผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมถึง 617,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

Photo by Clément Falize on Unsplash

สภาวะสมองเสื่อม [6] เกิดจากความเสียหายของเซลล์สมอง รบกวนความสามารถในการสื่อสารระหว่างกัน เช่น การส่งสารเคมีให้สัญญาณระหว่างเซลล์สมองในสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ที่มีความสามารถลดลง สมองมีหลายส่วนและแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อเซลล์พื้นที่หนึ่งเสียหายจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ทำให้ผู้สูงวัยมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ผิดปกติทางการรับรู้ ความจำ จินตนาการ การคิดการใช้เหตุผล การคำนวณ การตัดสินใจและการใช้ภาษา เมื่อกล่าวถึงภาวะสมองเสื่อม สังคมภายนอกมักรับรู้ถึงภาวะความจำเสื่อมเป็นส่วนใหญ่เพราะภาวะความจำเสื่อมนั้นสะท้อนพฤติกรรมของผู้สูงวัยที่ผิดปกติไปอย่างเด่นชัด แต่แท้จริงแล้วยังมีภัยเงียบที่มาจากภาวะสมองเสื่อมนั่นคือ ความสามารถในการต้านทานโรคของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นกลไกการควบคุมการอักเสบ/ติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) ในเซลล์ภูมิคุ้มกันในชื่อ “ไมโครเกลีย” (Microglia) [7] มีหน้าที่ตอบสนองต่อแบคทีเรียและกำจัดเซลล์ประสาทที่ชำรุดในเวลาเดียวกัน และช่วยส่งสัญญาณเพื่อรับเซลล์ภูมิคุ้มกันประเภทอื่นและให้สัญญาณเมื่อมีการอักเสบ

Photo by Robina Weermeijer on Unsplash

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดโรคมากกว่าวัยอื่น จากงานวิจัยที่ออสเตรเลียเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 [8] พบว่า ในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยรักษาโรค COVID-19 วัย 20–29 ปี เพิ่มขึ้น 1.04% ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 18.40% คาดว่า หากมีผู้ติดเชื้อ 0.5 ล้านคนจะมีผู้เสียชีวิต 66% ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป สำหรับสถิติผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย [9] ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 พบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุติดเชื้อถึง 10,259 คน ในกรุงเทพฯ มีถึง 4,649 คน ซึ่งเป็นไปตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ด้วย และเมื่อไม่นานมานี้ปรากฏผลงานวิจัยที่น่าสนใจจากการทดลองในหนูที่ย้อนกลับจากสภาวะชราภาพ [10] โดยการตั้งโปรแกรมเผาผลาญกลูโคสในไมอีลอยด์ (Myeloid) เพื่อฟื้นฟูการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือการอักเสบที่ส่งผลต่อสมองจากการเกิดไข้ใน Prostaglandin E2 (PGE2) และยังมีบทความที่กล่าวถึงการกินผักผลไม้อื่นๆ เช่น บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ ผักโขม เพื่อช่วยการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในการช่วยทำลายเซลล์ที่ทำให้ชราภาพ

Photo by Sneha Cecil on Unsplash

จะเห็นได้ว่า “ความผิดเผลอไผล” ของวัยชรา ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจ แต่เป็นประสิทธิภาพของร่างกายที่เซลล์ต่างๆเสื่อมถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง ซึ่งหน้าที่หลักของสมองนั้นเป็นศูนย์กลางการควบคุมและการสั่งการของระบบภายในร่างกายทั้งหมด ส่งผลต่อการแสดงออกทั้งด้านอารมณ์และพฤติกรรม เมื่อมีภาวะเสื่อมถอยเกิดขึ้นจึงทำให้ผู้สูงวัยมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิม ทั้งนี้ประเทศไทยมีแผนงานวิจัยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย [11] ให้สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข นอกจากการวิจัยเพื่อยับยั้ง ฟื้นฟูความชรา บำบัดและรักษาทางการแพทย์แล้วยังมีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงวัย เช่น ระบบนาฬิกาอัจฉริยะที่สามารถบอกอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับน้ำตาลในเลือด กระจกช่วยออกกำลังกายให้ผู้สูงวัยเกิดแรงจูงใจสามารถออกกำลังกายได้นานมากยิ่งขึ้น อุปกรณ์ช่วยติดตามของในบ้านที่ใช้บ่อยและมักจะหลงลืม แอปพลิเคชั่นคัดกรองการรู้คิดบกพร่องคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น จากงานวิจัยของ รศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ และดร.ทัศน์วรรณ ลักษณะโสภิณ [12] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มีการพัฒนาระบบที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแลเฝ้าระวังสุขภาพที่เกี่ยวกับสมองและจิตใจสำหรับผู้สูงอายุโดยใช้หุ่นยนต์มาช่วยส่งเสริมการทำงานของร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุไม่มีความกังวลใจในการนำหุ่นยนต์มาใช้งาน แต่ต้องการให้มีการออกแบบหุ่นยนต์ที่ใช้โทนเสียงนุ่มนวล แสดงแสงไฟที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัย พร้อมหน้าจอแสดงผลอักษรขนาดใหญ่ รองรับการบันทึกข้อมูลการทำกิจกรรมต่างๆสำหรับผู้สูงอายุ แสดงสถานะอาการแบบ Dashboard รวมถึงการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังครอบครัวของผู้สูงอายุด้วย

Photo by Alex Knight on Unsplash

แม้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงวัยให้มีคุณภาพแต่ในการรักษาคุณภาพจิตใจของผู้สูงวัย ผู้เขียนเองมีความเห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ของบุตรหลานเป็นสำคัญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวก ส่วนการเลี้ยงดูและความเอาใจใส่ยังคงเป็นหน้าที่หลักของลูกหลาน

รวบรวมข้อมูลโดย นางสาวอารยา ศรีบัวบาน

เอกสารอ้างอิง

Alzheimer and dementia association. (2021). Number of people with dementia. Retrieved

by May 27, 2021. URL: https://www.alzint.org/about/dementia-facts-figures/dementia-

statistics/

Holt, N.R., Neumann, J.T., McNeil, J.J. and Cheng, A.C. (2020), Implications of COVID-19 for

an ageing population. Med. J. Aust., 213: 342–344.e1. https://doi.org/10.5694/mja2.50785

Maria Cohut. 2018. How uncontrolled inflammation leads to brain cell loss. Retrieved by

May 1, 2021 URL: https://www.medicalnewstoday.com/articles/322989#Brake-signals-for-

inflammation

Minhas, P.S., Latif-Hernandez, A., McReynolds, M.R. et al. Restoring metabolism of myeloid

cells reverses cognitive decline in ageing. Nature 590, 122–128 (2021).

https://doi.org/10.1038/s41586-020-03160-0

The Alzheimer’s Association. 2021. What Is Dementia?. Retrieved

by May 27, 2021. https://www.alz.org/alzheimers-dementia/what-is-dementia

กรมกิจการผู้สูงอายุ. 2564. ผู้สูงอายุติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564,

URL: https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/857

กรมกิจการผู้สูงอายุ. 2564. สถิติผู้สูงอายุ. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564, URL:

https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/335.

ทัศนีย์วรรณ ลักษณะโสภิณ, บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์, & มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. คณะ

วิศวกรรมศาสตร์. (2563). การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ช่วยเหลือกับผู้สูงอายุ (ระยะที่ 1).กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.

Young Matter. 2564. เมื่อโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย สำรวจสวัสดิการผู้สูงอายุแต่ละประเทศเป็นยังไงบ้าง?

สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564, URL: https://thematter.co/social/เมื่อโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย

สำรวจสวัสดิการผู้สูงอายุแต่ละประเทศเป็นยังไงบ้าง?

สยามรัฐออนไลน์. 2564. สกสว. เผยแผนงานวิจัยรองรับไทยก้าวเข้าสู่สังคมผมสีดอกเลา ปี 65. สืบค้นเมื่อ

27 พฤษภาคม 2564, URL: https://siamrath.co.th/n/243241

อุทัยวรรณ พงษ์บริบูรณ์. (2563). สถานการณ์ผู้สูงอายุประเทศไทย: ปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพ.

วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 10 (2), 46–58. URL:

https://so01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSocSci/article/download/243261/164922/.

--

--

KMUTT Library

KMUTT Library provides information to any person. Our target supports everybody has Life Long Learning ready to 21st century skill.