เส้นใยใบสับปะรดสำหรับงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Pineapple Leaf Fibers from Industrial Textiles)

KMUTT Library
2 min readApr 2, 2021

--

ในทุกวันนี้เครื่องนุ่งห่มยังคงเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยหลักสำคัญของการดำรงชีวิต ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการส่งออกด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นอันดับต้นๆ จึงทำให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้มีความทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการต่อคนในประเทศ รวมถึงต่างประเทศที่มีความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แต่ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการตื่นตัวผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

จากความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่งผลให้มีการใช้วัตถุดิบธรรมชาติมา แปรรูป รวมถึงเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากพืชมาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องประดับตกแต่ง และของใช้ต่าง ๆ ซึ่งจากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ทำให้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำเส้นใยธรรมชาติและสีธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป (วิทยา อินทร์สอน, 2560)

นวัตกรรมเส้นใยใบสับปะรด

ในปัจจุบันได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการนำเอาวัสดุทางธรรมชาติที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การพัฒนาเส้นใยใบสับปะรดซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกสับปะรดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สร้างรายได้ให้ประเทศปีละไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งในการวิจัยนี้ได้สร้างความแปลกใหม่ และช่วยลดของเหลือทิ้งจากผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างมาก โดยในส่วนของวิจัยนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเส้นใยสับปะรดสู่การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงอุตสาหกรรม โดยการนำใบสับปะรดมาเข้ากระบวนการแยกเส้นใย และพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ผ่านเครื่องจักรอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

คุณสมบัติเส้นใยใบสับปะรด คุณสมบัติเส้นใยใบสับปะรด เป็นเส้นใยยาว ละเอียด มีความนุ่มเหมือนฝ้าย แต่แข็งแรงกว่าฝ้าย และคุณภาพดี เหมาะกับการทำเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และสามารถนำมาแปรรูปเป็นกระดาษ เพื่อใช้ในการพิมพ์และทำบรรจุภัณฑ์ได้ (ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร, 2558)

สัดส่วนของส่วนประกอบของต้นสับปะรด

ตาราง : ส่วนประกอบของสับปะรด
รูป : ส่วนประกอบของต้นสับปะรด

ผ้าไหมใยสับปะรด (MI : 00716–02) : นวัตกรรมการแปรรูปใบสับปะรดให้เป็นเส้นใย และนำมาทอกับ ผ้าไหม เพื่อให้มีสัมผัสที่นุ่มขึ้นกว่าใยสับปะรด 100% โดยใช้แหล่งผลิตเส้นใยจากสับปะรดที่มีคุณภาพสูงและดีที่สุด ได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตแบรนด์เสื้อผ้า คุณสมบัติที่โดดเด่นของใยสับปะรดคือ ความเหนียว ทนทาน สามารถผลิตเป็นสินค้าคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย

คุณสมบัติของผ้าไหมใยสับปะรด (TCDC Material Database, 2562)
รูป : ตัวอย่างผ้าไหมใยสับปะรด (TCDC Material Database, 2562)

จากใบสับปะรดสู่ “เส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน”

จากงานวิจัยของ ดร.สุภโชค ตันพิชัย อาจารย์ประจำสถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พบว่า เส้นใยใบสับปะรดนั้นมีคุณสมบัติที่น่าสนใจหลายประการ เช่น น้ำหนักเบา แข็งแรง และทนทาน มีความแข็งแรงของเส้นใยสูง เมื่อเทียบกับเส้นใยธรรมชาติประเภทอื่น ๆ จึงเหมาะแก่การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน ซึ่งเป็นวัสดุที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่มีกระบวนการทำที่ไม่ซับซ้อนมากนัก

โดยงานวิจัยนี้ใช้ใบสับปะรดเป็นสารตั้งต้นในการเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน ผ่านกระบวนการระเบิดด้วยไอน้ำแรงดันสูง เพื่อทำลายพันธะที่ยึดเกาะกันระหว่างเส้นใยเซลลูโลสระดับไมโคร จนได้เป็นเส้นใยขนาดนาโน ที่มีการกระจายตัวแยกออกจากกัน ซึ่งมีความแข็งแรงสูง น้ำหนักเบา ความทนทานต่อสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มีลักษณะโปร่งแสง ยากต่อการมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้หลากหลาย เช่น การปรับปรุงสมบัติบางประการของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น โดยที่ยังคงความใสของฟิล์มไว้ได้ เช่น สมบัติเชิงกล สมบัติทางความร้อน หรือสมบัติการแพร่ผ่านของก๊าซ

นอกจากนี้เส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านวัสดุทางการแพทย์อีกด้วย เช่น ผ้าปิดแผล หรือหลอดเลือดเทียม หรือใช้ในงานทางด้านการกรองสารพิษจากน้ำ หรืออากาศอีกด้วย ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหล่านั้น และเป็นการเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังเป็นการเตรียมองค์ความรู้เพื่อนำส่งให้กับทางภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จาก เส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ หรืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Center for Effective Learning and Teaching, 2561)

ประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเส้นใยธรรมชาติ แต่มีอุตสาหกรรมเส้นใยธรรมชาติเพียงบางชนิดเท่านั้น ยังคงมีแหล่งเส้นใยธรรมชาติที่ถูกทิ้งให้สูญเปล่าอีกเป็นปริมาณมาก และใบสับปะรดเป็นแหล่งเส้นใยธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง มีโอกาสได้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาวัสดุสังเคราะห์ทางเคมี แล้วหันมาใช้ประโยชน์จากวัสดุทดแทน และยังเป็นการนำเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากการปลูกสับปะรดมาช่วยทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

รวบรวมข้อมูลโดยนาวสาวสุพักตรา ยุทธภัณฑ์บริภาร

เอกสารอ้างอิง

ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร. การประยุกต์ใช้เส้นใยจากใบสัปปะรดสำหรับสิ่งทอเทคนิค. ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ. คณะอุตสาหกรรมเกษตร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. การประชุมวิชาการประจาปี สวทช. ครั้งที่ 11.

ทิพย์ลักษณ์ โกมลวณิช และ ธนเดช ธเนศกลจักร. การศึกษาแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าชุมชน จากกระดาษเส้นใยสับปะรด = The Study of Packaging Design for Local Product made of Pineapple paper. http://lib3.dss.go.th/fulltext/techno_file/CF96/CF96(B2).pdf

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ. นวัตกรรมเส้นใยจากสับปะรด นวัตกรรมเส้นใยรักษ์โลก : เส้นใยสับปะรด (Pineapple fibers).

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร. เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติจากพืช เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ. 2560.

ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย และ นันทยา เก่งเขตร์กิจ. ใบสับปะรด: แหล่งเส้นใยธรรมชาติที่ไม่ควรมองข้าม. สืบค้น 25 มกราคม 2564, จาก http://lib3.dss.go.th/fulltext/techno_file/CF96/CF96(B1).pdf

ดร.สุภโชค ตันพิชัย. (2561). จากใบสับปะรดสู่“เส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน”. สืบค้น 27 มกราคม 2564, จาก https://celt.li.kmutt.ac.th/wp/index.php/2018/09/24/nanocellulose2018/

ดร.สุภโชค ตันพิชัย. (2560). ใช้นาโนเปลี่ยน”ใบสับปะรด” เป็นเส้นใยสารพัดประโยชน์. สืบค้น 27 มกราคม 2564, จาก https://today.line.me/th/v2/article/7fbfdcfa8e7d958904113acc2c7d5c5eedad9def73c9d8e53e207edca39f9dd5

ดร.วิทยา อินทร์สอน,ผศ.ดร.สุขอังคณา แถลงกัณฑ์ และ ปัทมาพร ท่อชู. (2558). นวัตกรรมอุตสาหกรรมสิ่งทอสีเขียว (Eco-Industrial Innovative Textiles). สืบค้น 25 มกราคม 2564, จาก http://www.thailandindustry.com/onlinemag/view2.php?id=322&section=37&issues=23

Janelle Zara. Inside the Weird Wide World of Bioplastics: 5 Plant-Based Material Alternatives. Retrieved 24 January 2021 from https://architizer.com/blog/practice/materials/5-bioplastics-to-build-with/

TCDC Material Database. (2562). ข้อมูลวัสดุ : ผ้าไหมใยสับปะรด. สืบค้น 27 มกราคม 2564, จาก https://www.tcdcmaterial.com/th/material/6/ผ้าและสิ่งทอ/phaaaihmaiysabpard-mi00716-02

--

--

KMUTT Library
KMUTT Library

Written by KMUTT Library

KMUTT Library provides information to any person. Our target supports everybody has Life Long Learning ready to 21st century skill.

No responses yet